#มาตามคำเรียกร้อง กับ 8วิธีอรหันต์ขจัดโรคอัลไซเมอร์!! จะรอช้าอยู่ไย…ไปดูกันเล๊ยย

1. ออกกำลังกาย
สมองส่วนที่เป็นสีเทา (gray matter) เป็นเนื้อสมองส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการทำงานสำคัญของสมองหลายอย่างรวมทั้งความจำด้วย เนื้อสมองสีเทาจะลดปริมาตรลงเมื่อคนเราแก่ตัวขึ้น นอกจากนี้เนื้อสมองสีเทาในส่วนของสมองที่เรียกว่า “ฮิปโปแคมปัส” ซึ่งมีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความทรงจำจะค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อยๆ ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม…การออกกำลังกายดูเหมือนว่าจะรักษาส่วนสีเทานี้ไว้!! ปรากฏการณ์นี้เห็นได้จากการสร้างภาพสมอง ในการศึกษาหนึ่งที่ทำกับผู้สูงวัยพบว่า...ฮิปโปแคมปัสโตอย่างมีนัยสำคัญในคนที่ออกกำลังกายเข้มข้นพอประมาณในระยะเวลานาน 1 ปี นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของฮิปโปแคมปัสยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในการคิดการจดจำของสมอง (cognitive functions) อีกด้วย
การสร้างภาพสมองในขณะทำงานโดยใช้ functional MRI (fMRI) ซึ่งสามารถสร้างภาพในขณะเกิดจริง (real time) ได้แสดงว่าขณะออกกำลังกายมีการเพิ่มขึ้นของการทำงานและการติดต่อเชื่อมโยงของเครือข่ายในสมอง และยังพบว่าคนที่ร่างกายฟิตมีการทำงานและการเชื่อมโยงในสมองที่ดีกว่ามาก!!
การศึกษาทางห้องทดลองพบหลักฐานบ่งชี้ว่า…การออกกำลังกายสามารถสร้างเซลล์สมองใหม่ในส่วนสำคัญของฮิปโปแคมปัสได
้

2. ทานอาหารที่มี…
• อาหารที่มีโอเมก้า-3 (Omega-3) สูง ช่วยบำรุงสมองและต้านอาการซึมเศร้า พบมากในปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลากะพง ปลากระบอก ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 200 กรัม หากหาปลาทะเลลำบาก สามารถทดแทนด้วย วอลนัท เมล็ดแฟล็กซ์ และน้ำมันมะกอกได้
• อาหารที่มีแอนติออกซิแดนท์สูง ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง พบมากในผัก ผลไม้ และเครื่องเทศต่างๆ เช่น ผักโขม สะเดา ลูกหม่อน ทับทิม พริกไทย ขิง กระเทียม ขมิ้น ควรกินอย่างน้อยวันละ 400 กรัม
• อาหารที่มีวิตามินซีและอีสูง อีกหนึ่งตัวช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง พบมากในผักใบเขียวและผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ฝรั่ง ผลไม้ตระกูลส้ม ลิ้นจี่ กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา แนะนำให้กินสดเพื่อให้ได้รับวิตามินได้มากที่สุด
• อาหารที่มีโฟเลทสูง เสริมการทำงานของกรดอะมิโนที่ซ่อมแซมเซลล์สมองให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พบมากใน ข้าวกล้อง ผักโขม ถั่วต่างๆ และผลไม้บางชนิด เช่น ส้มและสตรอว์เบอร์รี่

3. เม้ามอยในภาษาที่2
ผลงานวิจัยจากสถาบัน Nizam’s Institute of Medical Sciences ประเทศอินเดีย ระบุว่า… การฝึกพูดคุยภาษาที่2 อาจป้องกันหรือทำให้ยืดเวลาที่คนสูงอายุจะเกิดโรคอัลไซเมอร์ไปได้ถึง 5ปี!! สาเหตุที่เป็นเช่นนี้…เพราะการฝึกพูดคุย2ภาษาจะทำให้สมองทำงานซับซ้อนมากขึ้น และการพูดคุย2ภาษาในชีวิตประจำวันทำให้สมองต้องโฟกัสมากขึ้นกว่าการพูดภาษาไทยอย่างเดียว ยิ่งสมองได้ออกกำลัง สมองก็ยิ่งแข็งแรง สมองจึงป่วยช้าลงนั่นเอง ดังนั้นอย่าได้อายที่จะเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ถึงวัยนี้จะเรียนรู้ได้ช้าลงกว่าหนุ่มๆสาวๆ แต่การเรียนหรือฝึกพูดภาษาอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษาไทย ทำให้เราได้เพื่อนใหม่ แถมยังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แม่เขียดดูแล้ว…มีแต่ win-win นะค้าา

4. ฝึกบวกเลขและเล่นเกมปริศนาต่างๆ
การฝึกบวกเลขเป็นกระบวนการคิดที่ซับซ้อนกว่าความคิดทั่วไปในชีวิตประจำวัน. สถาบัน Advanced Cognitive Training for Independent and Vital Elderly (ACTIVE) ที่ศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ได้ชี้แจงไว้อย่างน่าสนใจว่า… ผู้สูงอายุที่มีการใช้สมองในกิจกรรมที่ซับซ้อน เช่น การคิดเลข การเล่นเกมปริศนาต่างๆ สามารถป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ไปได้ยาวนานถึง 14 ปี!! นอกจากนี้กลุ่มสว.ที่มีการฝึกสมองทุกวันจะสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานบ้าน การเก็บของหยิบของ การพูดคุย ได้ดีกว่าสว.ที่ไม่ฝึกสมองเลย
สำหรับการเลือกกิจกรรมฝึกสมอง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้เลือกกิจกรรมที่เราชอบและทำได้ไม่เบื่อ และที่สำคัญ… เลือกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงได้จะดีมาก เช่น การแก้โจทย์ปัญหาเลข การตอบปัญหาเชาว์ต่างๆ

5. นอนพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย6-8ชม.ต่อวัน
นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพออาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และยังทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น!!
จากผลการศึกษาพบว่า…ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ส่วนมากมีพฤติกรรมนอนน้อย เมื่อเทียบกับคนปกติ ซึ่งการนอนน้อยส่งผลให้เกิดการสะสมตัวของโปรตีนแอมีลอยด์ บีตา (Amyloid beta) ที่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาทมีความหนาขึ้นเป็นชั้น ทำให้สมองเสื่อม และเป็นเหตุให้สมองไม่สามารถจดจำอะไรได้นาน ซึ่งในกรณีกลับกันหากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ จะทำให้ปริมาณของแอมีลอยด์ บีตาลดลง และทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์ลดลงได้
ทั้งนี้ การนอนหลับที่เพียงพอตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์เมื่อแก่ตัวลงได้ ซึ่งระยะเวลาการนอนหลับพักผ่อนที่เหมาะสมที่สุด คือ 7-8 ชั่วโมง โดยควรจะหมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้สมองเสื่อมสภาพได้มากขึ้น

6. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ผลการวิจัยตีพิมพ์ลงใน The Lancet Public Health โดยผู้เขียนหลักคือ ดร. Jürgen Rehm ผู้อำนวยการศูนย์บำบัดสิ่งเสพติด และสถาบันสุขภาพจิตแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตเพื่อการวิจัยด้านสุขภาพจิต พบว่า…ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งชายและหญิง มีอาการที่บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่ออาการสมองเสื่อมประเภทต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญในทุกช่วงวัย ตั้งแต่อาการเริ่มแรกไปจนถึงอัลไซเมอร์
นักวิจัยได้พบสถิติที่น่าตกใจว่า…ผู้ป่วยประมาณ 57,000 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนอายุ 65 ปีนั้น เกือบ 60% ได้รับการวินิจฉัยว่า ความผิดปกติของสมองดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
7. ห้ามเครียด จงยิ้มและหัวเราะ
นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซินของสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาล่าสุดที่การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ที่กรุงลอนดอนว่า…ประสบการณ์ที่สร้างความเครียดรุนแรงในชีวิต เช่น การที่ลูกหลานตายจาก หย่าร้าง หรือถูกให้ออกจากงาน จะทำให้สมองเสื่อมประสิทธิภาพลง และสมองจะแก่ขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อย 4 ปี. ในขณะที่ความสนุกสนานกับการทำกิจกรรมต่างๆ การหัวเราะสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ รวมทั้งผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความเครียดน้อยลง มีปฏิสัมพันธ์กับคนได้มากขึ้น ดังนั้น เรามาหัวเราะกันเถิด สุขภาพจิตจะได้ดีเหมือนหน้าตานะคะโฮะๆๆๆๆ

8. หากหลงลืมจนเกินเยียวยา กรุณาปรึกษาคุณหมอ
เมื่อพบว่าญาติผู้สูงอายุมีอาการขี้หลงขี้ลืมหรือตัวเรามีอาการหลงลืมจนผิดปกติ ควรพามาพบคุณหมอเพื่อตรวจว่ามีลักษณะของโรคอัลไซเมอร์หรือเปล่า คุณหมอจะซักถามอาการ ทดสอบความจำ และทักษะที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา การคำนวณ และการใช้ภาษา ถ้าจำเป็นก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สมอง ดังนั้นหากเพื่อนๆคนไหนที่มีอาการหลงลืมจนเริ่มกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม่เขียดแนะนำว่า รีบไปพบคุณหมอกันนะคะ จะได้รู้ตัวและรักษากันแต่เนิ่นๆค่ะ
