“จงรักษาความดี ดั่งเกลือรักษาความเค็ม” คำพูดนี้เป็นคำขวัญประจำโรงเรียนราชินีบนที่น้องมุกศึกษามาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปลายเลยค่ะ ถ้าพูดถึงเกลือ หลายๆคนคงนึกถึงหน้าที่หลักของมัน คือ ความ “เค็ม” ใช่ไหมคะ แต่เพื่อนๆรู้ไหมคะว่า มันมีเกลือที่มีรสหวานด้วย!!! นั่นแน่...ตกใจกันใช่ไหมคะ เกลืออะไรหนออออ มีรสหวาน แม่เขียดมีคำเฉลยให้ในบทความนี้ค่ะ แต่ก่อนอื่น เราไปเรียนรู้เรื่อง “เกลือ” เครื่องปรุงรสสามัญประจำบ้านของทุกคนกันก่อนนะคะ
----♥----♥----
เกลือ เมล็ดขาวใสสวยเนียนที่เราใช้รับประทานอยู่ทุกวันมีหลายประเภทมากมาย แต่หากพูดถึงเกลือที่แม่บ้านหรือพ่อบ้านแบบเราๆใช้เห็นจะไม่พ้นเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์ ค่ะ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเกลือเหมือนกัน แต่ที่มาและประโยชน์ต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยค่ะ
เกลือสมุทร ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นเกลือที่ได้มาจากน้ำทะเล(แสนงาม ฟ้าสีครามสดใส) ซึ่งเกิดจากการทำให้น้ำทะเลตกผลึกโดยใช้แสงอาทิตย์อันร้อนแรงแผดเผาจนวัวตายควายล้ม มาสาดแสงใส่น้ำเกลือจนเหือดแห้งไปหมดเหลือแค่ผลึกเกลือขนาดเล็ก เราจึงเรียกมันแบบอินเตอร์ว่า Solar Salt ค่ะ เกลือชนิดนี้จะมีส่วนประกอบของโซเดียมคลอไรด์ต่ำกว่าเกลือสินเธาว์ และมีสารที่สำคัญต่อสุขภาพคือ ไอโอดีน สุดยอดแร่ธาตุที่พวกเราท่องกันมาแต่เล็กแต่น้อยว่าทำให้ไม่เป็นคอหอยพอกนี่แหละค่ะ
สำหรับเกลือสินเธาว์ หรือเกลือบาดาล ชื่อก็บอกอีกเช่นกันว่าเป็นเกลือที่ได้มาจากดิน กระบวนการผลิตเกลือชนิดนี้มีหลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นการละลายเกลือที่อยู่ใต้ดินโดยใช้น้ำบาดาล แล้วนำน้ำเกลือมาต้มหรือทำให้เกลือตกผลึกโดยแสงแดดอันร้อนแรงของประเทศไทยค่ะ ซึ่งข้อเสียของเกลือชนิดนี้ คือ ไม่มีธาตุไอโอดีน ค่ะ
----♥----♥----
แล้วเกลืออะไรกันนะที่มีรสหวาน??
สำหรับคำตอบ แม่เขียดได้เชิญ คุณหมอโยะชิโนะริ นะงุโมะ มาชี้แจงแถลงไข ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศัลยกรรมตกแต่งทรวงอกที่นอกจากจะเคยเป็นหัวหน้าภาคแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของญี่ปุ่นแล้ว คุณหมอยังเป็นแขกรับเชิญกิตติมศักดิ์ตามรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับสุขภาพ และยังเป็นนักเขียนเรื่องสุขภาพมือทองที่เขียนหนังสือติดอันดับขายดีหลายสิบเล่มเลยค่ะ
คุณหมอบอกว่า เกลือที่มีรสหวานคือ “เกลือสินเธาว์” ค่ะ เดิมทีรสชาติคือความรู้สึกตอนที่อาหารหรือสิ่งต่างๆสัมผัสกับต่อมรับรสในปาก ผลึกเกลือสินเธาว์มีขนาดใหญ่ ถึงแม้จะอยู่ในปากก็ไม่ละลายที่ปลายลิ้นทันที ผลึกเกลือจึงลงไปในกระเพาะอาหารโดยที่เราไม่รู้สึกถึงความเค็ม ดังนั้นเกลือสินเธาว์ไม่ได้มีรสหวานนะคะ แต่ผลึกเกลือใหญ่มากจนมันละลายในปากเราไม่ทัน กว่าเราจะรู้สึกเค็มผลึกเกลือน้อยๆก็ลงไปนอนอยู่ที่กระเพาะอาหารของเราซะแล้วค่ะ
รสชาติหวานปะแล่มๆแบบนี้ล่ะค่ะที่เป็นดาบสองคมของเกลือสินเธาว์เพราะเราจะรู้สึกอร่อยและไม่เค็ม จึงสาดเกลือใส่อาหารที่เราทำอย่างจัดหนักค่ะ ทำให้ร่างกายเราได้รับเกลือมากเกินไปจนก่อให้เกิดผลเสียให้แก่ร่างกาย วิธีแก้ไขคือ หากจะใช้เกลือสินเธาว์ในการปรุงอาหาร เราควรบดเกลือเม็ดใหญ่ให้ละเอียดก่อนใช้ เพราะจะช่วยให้รับรู้รสเค็มได้มากขึ้น และสามารถลดปริมาณการใช้เกลือได้ค่ะ
----♥----♥----
แล้วกินเค็มมีผลเสียอย่างไร??
หลายๆคนตอบกันทันใดว่า “เป็นโรคไต” แต่จริงๆแล้วการกินเค็มมากเกินไปส่งผลให้เรา เป็น “โรคอ้วนลงพุง” ได้พอๆกับการบริโภคน้ำตาลเลยนะคะ เนื่องจากร่างกายของคนเรานั้นแสนฉลาด มีกลไกที่คอยปรับสมดุลระหว่างน้ำและเกลือโดยอัตโนมัติ เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเรารับเกลือเข้ามา เมื่อนั้นร่างกายก็จะสรรหาน้ำเข้ามาเพิ่ม เพื่อรักษาสมดุลตรงนี้ไว้ ด้วยเหตุนี้เอง คนที่กินเค็มจึงอ้วน เพราะร่างกายบวมน้ำ
นอกจากนี้ความเค็มยังมีผลต่อค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดค่ะ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะกระดูกผุ และโรคมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยค่ะ
ดังนั้นคุณหมอจึงไม่ได้แนะนำให้เราบริโภคเกลือกันอย่างสม่ำเสมอนะคะ เพราะในน่านน้ำทะเลของเรายังมีอาหารหลายอย่างที่มีสรรพคุณดีกว่าเกลือ แต่ไม่มีรสเค็มจัดจ้านเท่า อันได้แก่ สาหร่ายทะเลประเภทต่างๆ และอาหารทะเลค่ะ ซึ่งก็เป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายที่พบได้ตามตลาดสดหรือซุปเปอร์มาเก็ตบ้านเราเลยค่ะ
----♥----♥----
เช้านี้เค็มกันพอหอมปากหอมคอกันแล้วนะคะ แม่เขียดเริ่มหิว คงต้องไปหาอะไรกระแทกพุงกันบ้างแล้วค่ะ แต่แน่นอนว่า อาหารที่แม่เขียดทานจะมีรสไม่จัดและลดเค็มอย่างแน่นอน
เช้านี้ เพื่อนๆทานอะไรกันบ้างคะ ถ่ายรูปมาแชร์แม่เขียดกันบ้างค่ะ แม่เขียดจะรออ่านคอมเม้นท์อย่างใจจดใจจ่อนะค้า อิอิ