สวัสดีค่ะเพื่อนๆ เริ่มต้นวันพฤหัสด้วยรอยยิ้มที่สดใสนะคะ
ในข่วงที่ผ่านมา แม่เขียดและน้องมุกลูกสาวได้หาข้อมูลเรื่องโรคอัลไซเมอร์กัน ทั้งอ่านบทความ ผลงานวิจัย และข้อมูลต่างๆตามเว็บไซต์ค่ะ แม่เขียดพบว่า…มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่มาก และเป็นข้อมูลที่หลายๆคนน่าจะยังไม่เคยรู้ แม่เขียดและน้องมุกจึงนำข้อมูลดังกล่าวมาเขียนบทความเพื่อให้เพื่อนๆได้อ่านกัน หลากหลายข้อมูลงานวิจัย น้องมุกแปลมาจากผลงานวิจัยภาษาอังกฤษและเว็บไซต์ทางการแพทย์ต่างๆ ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างน่าเชื่อถือได้เลยค่ะ
เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ใกล้ตัวคนสูงวัย แม่เขียดจึงขออุทิศสัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์ให้ข้อมูลเรื่องโรคนี้นะคะ เพราะอยากให้เพื่อนๆเข้าใจสาเหตุและการป้องกันรักษาโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นค่ะ
ก่อนที่ให้ข้อมูลเจาะลึก และข่าวคราวต่างๆเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ แม่เขียดขอให้ข้อมูลของโรคนี้ก่อนนะคะ ว่าโรคอัลไซเมอร์นี้คืออะไร? เกิดจากอะไร? และผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไร?
--------------
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้ถูกบรรยายไว้ครั้งแรกโดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Alois Alzheimer ในปี พ.ศ. 2499 ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการสำคัญ คือ “ความจำเสื่อม หลงลืม” มีพฤติกรรมและนิสัยเปลี่ยนไป อาการจะดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่ค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีสำหรับรักษาให้หาย แต่สามารถป้องกันและชะลอการเกิดอาการหลงลืมได้
โรคอัลไซเมอร์จะพบในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบอัตราการเป็นโรคมากขึ้น!!โดยในช่วงอายุ 65-69 ปี พบการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 3 คนต่อ1,000คนต่อปี แต่หากเป็นช่วงอายุ 85-89 ปี จะพบสูงถึง 40 คนต่อ1,000คนต่อปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ เพศหญิงพบมากกว่าเพศชายเล็กน้อย อาจเนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนยาวกว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปีหลังอายุ 60 ปี
ผู้ป่วยประมาณ 7% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และสามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ ตำแหน่งความผิดปกติบนโครโมโซมที่พบชัดเจนแล้วว่าทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 21, 14, 1, และ 19 ผู้ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมเหล่านี้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่อายุน้อยกว่าคนที่ไม่ได้มีความผิดปกติทางพันธุกรรม นอกจากนี้พบว่าในผู้ป่วยโรคกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) ซึ่งมีความผิดปกติคือมีสารพันธุกรรมของโครโมโซมแท่งที่ 21 เกินมา หากมีชีวิตอยู่เกิน 40 ปี จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในที่สุด
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เหลือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ดังนี้ คือ อายุที่มากขึ้น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ เคยประสบอุบัติเหตุที่สมอง หรือสมองได้รับบาดเจ็บนอกจากนี้การเป็นโรคประจำตัวบางโรคจะมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน (เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคประมาณ 3 เท่าของคนปกติ) โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง แต่ที่น่าแปลกใจคือ ระดับการศึกษาและระดับสติปัญญาไม่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ดังนั้นโรคนี้เป็นได้ทุกเพศทุกวัย ทุกสังคมจริงๆค่ะ
พรุ่งนี้แม่เขียดจะมาบอกว่า ผู้ที่เริ่มมีอาการอัลไซเมอร์เป็นอย่างไรบ้าง
ฝากติดตามด้วยนะค้าาาา
ด้วยรักและสูงวัย
แม่เขียด ผู้สูงวัยใช่ไก่กา
Cr. haamor.com