สูงวัยแต่ไม่ เอ๊าท์ (ไซเมอร์) ตอนที่ 5

สำหรับวัยหนุ่มสาว(เหลือ)น้อยอย่างพวกเรา คงไม่มีอะไรงดงามไปกว่าการมีสุขภาพดีในทุกๆวัน ชื่นชมแต่ละวันที่ผ่านไป และย้อนนึกถึงวันเก่าๆนะคะ แต่ช่างน่าเสียดายที่บางเรื่อง...ตอนนี้เราก็อาจจะจำไม่ค่อยได้ เช่น ชื่อดารา นึกหน้าออกแต่ดันจำชื่อไม่ได้ซะนี่?! เป็นอุปสรรคในการเม้ามอยหอยสังข์เป็นอย่างยิ่ง!! เห้อออออ....สว.ทั้งหลายอย่างพึ่งเศร้าไปค่ะ เพราะวันนี้แม่เขียดมีข่าวล่าข่าวเร็วทางการแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์มาฝากกัน ตื่นเต้นแล้ววว ไปอ่านกันเล๊ยยย~

ย้อนความกันก่อนว่า...โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการฝ่อตัวของสมอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองบริเวณนั้นๆ จากการสังเกตสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์พบว่ามีความผิดปกติที่คาดว่าจะเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงโรค คือ “มีการสะสมของอะไมลอยด์พลัค (Amyloid Plaques)” ซึ่งเป็นสารโปรตีนผิดปกติชนิดหนึ่ง มีกลุ่มใยประสาทที่พันกัน (Neurofibrillary Tangles) และสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ในสมองที่ไม่สมดุลกัน นอกจากนี้ยังพบว่าเส้นเลือดในสมองของผู้ป่วยโรคนี้มักค่อย ๆ ถูกทำลายลง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพของเซลล์ประสาทลดลงและถูกทำลายทีละน้อย และเมื่อเวลาผ่านไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงแพร่กระจายไปสู่สมองหลายๆ ส่วน ซึ่งบริเวณที่จะได้รับผลกระทบเป็นส่วนแรกก็คือสมองที่ทำหน้าที่ด้านความทรงจำ

ความสูงวัยของสมองและความสูงวัยของส่วนอื่นๆในร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน ความสูงวัยของสมอง ไม่ใช่การขาดเรี่ยวแรงเหมือนแขนขา แต่มีความเกี่ยวข้องกับการเริ่มทำงานและหยุดทำงานของยีนส์บางตัว อ้างอิงผลงานวิจัยล่าสุด ตีพิมพ์ใน วารสาร Translational Psychiatry ที่ศึกษาเกี่ยวกับสมองของหนูที่มียีนส์ชื่อ interleukin-33 หรือเรียกสั้นๆว่า “ยีนส์ IL33” และสมองของหนูที่ไม่มียีนส์ IL33 ในDNA เพื่อสังเกตผลกระทบของยีนส์ตัวนี้ที่มีต่อสมองหนูเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน โดยผลงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเรื่องยีนส์ IL33 ต่อจากผลงานวิจัยอื่นๆที่มาก่อน ซึ่งมีหลายๆผลงานวิจัยชี้แนะว่า...ยีนส์ตัวนี้อาจเกี่ยวข้องกับการแก่ชราของเซลล์สมอง เพราะเซลล์สมองที่แก่ตัวลงจะมียีนส์ตัวนี้กระจายตัวอยู่ แต่มียีนส์ตัวนี้แล้วดีหรือไม่ดี??!! แม่เขียดมีเฉลยต่อไปนะคะ อิอิ

คนเราจะเข้าสู่วัยกลางคนเมื่อมีอายุประมาน 40 ปี ส่วนหนูจะเข้าสู่วัยกลางคนเมื่ออายุ 60 – 80 สัปดาห์ ซึ่งทั้งคนและหนูมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องความเสื่อมของสมอง เพราะเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน เซลล์สมองจะมีการตายหรือเสื่อมอย่างรวดเร็วเช่นกัน และมีการพบว่า หนูเองก็จะมีการปรากฏตัวของยีนส์ IL33เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมนุษย์ แสดงให้เห็นว่า....ยีนส์ IL33 ตัวนี้อาจเป็นหนึ่งในยีนส์เบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับภาวะเซลล์เสี่อมหรือตายเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนนั่นเอง !!!!

ในการเพิ่มความเข้าใจในตัวยีนส์ IL33 ให้มากขึ้น และกระจ่างแจ้งในบทบาทที่ยีนส์ตัวนี้เกี่ยวข้องในการแก่ของเซลล์สมอง ทีมนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาและมหาวิทยาลัยในประเทศบราซิล ได้ทำการเพาะพันธุ์หนูในห้องทดลองที่มียีนส์ IL33 และไม่มียีนส์ IL33 ในระบบพันธุกรรม พวกเขาเลี้ยงและทำการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบหนู 2 กลุ่มนี้เรื่อยๆ จนพวกมันเข้าสู่วัยกลางคน เมื่อถึงวัยนี้ หนูที่มียีนส์ IL33 ตอบสนองตามคาดคือ มีการกระจายตัวของยีนส์ IL33 ไปทั่วเซลล์สมองที่เสื่อม ทำให้สมองของหนูมีการซ่อมแซมเซลล์ประสาทนิวรอน และสมองของพวกมันยังสุขภาพดีเหมือนเดิม ส่วนหนูที่ไม่มียีนส์ IL33 พบว่าสมองไม่มีการซ่อมแซมตัวเอง ทำให้พวกมันเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อายุประมาน 68ปีเมื่อเทียบกับมนุษย์ ดังนั้นยีนส์ IL33 อาจเป็นกลไลสำคัญที่ช่วยป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับสมองต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อม เป็นต้น ได้ยินแบบนี้...นักวิจัยจากหลากหลายสถาบันจึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาทดสอบยีนส์นี้กับสมองมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ยีนส์ IL33 ในสมองของเราต่อสู้และรักษาความเสื่อมของสมองตนเองเมื่อแก่ตัวลง

เห็นไหมคะว่า....ร่างกายของเรานี้ช่างมหัศจรรย์ยิ่งนัก!! ถึงแม้เมื่อแก่ตัวลงจะมีความเสื่อม แต่ร่างกายของเราก็มีการพัฒนาวิธีต่างๆในการลดผลกระทบที่มาจากความเสื่อมนั้น แม่เขียดเองก็ภาวนาให้นักวิจัยทั้งหลายประสบความสำเร็จในการศึกษาค้นคว้าวิจัยนะคะ เผื่อจะเป็นความหวังให้วัยสว.อย่างเราที่ต้องการอายุยืนแบบจำทุกอย่างได้ขึ้นใจ และคิดคำนวณได้ไวเหมือนสาวแรกรุ่นค่ะ ฮิๆๆๆ

ด้วยรักและสูงวัย
แม่เขียด ผู้สูงวัยใช่ไก่กา