สวีดัดสวัสดีค่ะ เพื่อนรักผู้สูงวัยใช่ไก่กาทุกท่าน ตอนนี้มีใครประสบปัญหาปวดเข่าร้าวรานกันอยู่บ้างไหมคะ แม่เขียดเองยังไม่ถึงขนาดเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แต่บางครั้งเวลาขึ้นลงบันไดก็มีอาการเจ็บแปลบๆอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ วันนี้เลยคิดว่าลองหยิบยกเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังบ้างดีกว่า แต่แม่เขียดอยากจะเน้นในเรื่องการออกกำลังกายกับโรคข้อเข่าเสื่อมนะคะ ว่าจริงๆแล้วสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด
----♥----♥----
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่สร้างความลำบากให้กับคนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งโรคนี้นอกจากจะทำให้การเดินเหินไปทางไหนแสนจะลำบากแล้ว ยังทำให้เราไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันได้ เช่น ยกของ,นั่งยองๆ ฯลฯ
บางคนอาจจะคิดว่าการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นจะไม่สามารถออกกำลังกายได้เลย แต่แท้ที่จริงแล้ว คุณหมอยืนยันว่าผู้ป่วยโรคนี้ยังสามารถออกกำลังกายได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสม แต่ทว่าวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นมีอะไรบ้าง วันนี้แม่เขียดจะพาไปรู้จักกันค่ะ แต่ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับโรคนี้ด้วยกันก่อนดีกว่านะคะ
รู้จักโรคข้อเข่าเสื่อม....
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้แต่มีการสันนิษฐานว่าส่วนมากมักเกิดจากอายุที่มากขึ้น เพราะมักจะพบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรืออาจจะเป็นเพราะการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการใช้ข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม อุบัติเหตุ และการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการเสื่อมสภาพของข้อเข่าจะเกิดขึ้นกับกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ โดยจะส่งผลให้เห็นทั้งในด้านโครงสร้าง และการทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ และการเสื่อมสภาพนี้จะไม่สามารถคืนกลับสู่สภาพเดิมได้ และอาจจะมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดี โดยอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมีดังนี้
1. ปวดเข่าเวลาที่มีการเคลื่อนไหว เช่น การเดินขึ้นลงบันได หรือการนั่งพับเข่า
2. รู้สึกข้อฝืดขัดเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
3. มีเสียงการเสียดสีของกระดูกเวลาที่ขยับเข่า
4. ข้อเข่าบวมเนื่องจากการอักเสบ ทำให้มีน้ำในข้อเข่ามากเกินไป
5. หากมีอาการรุนแรงก็อาจจะมีภาวะเข่าคดเข้า โก่งออก หรือมีกระดูกงอกทำให้ข้อเข่าผิดรูปร่าง
ส่วนวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมีทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่ การรักษาโดยไม่ใช้ยา ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น รวมทั้งการควบคุมน้ำหนัก และการบริหารกล้ามเนื้อด้วยตนเองและออกกำลังกายเบาๆ นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยยา ในกรณีที่มีอาการข้อเข่าอักเสบ ซึ่งถ้าหากรักษาด้วยวิธีอื่นไม่หาย ก็อาจจะต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อเข่ากันเลยล่ะค่ะ
----♥----♥----
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม??
การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมค่ะ แถมยังเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ อีกด้วย เพราะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใกล้ๆข้อเข่าแข็งแรงขึ้นได้ เพียงแต่ไม่ควรหักโหมและต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่จะส่งผลกระทบถึงข้อเข่าค่ะ โดยการออกกำลังกายที่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถทำได้มีดังต่อไปนี้
1. เดิน
การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุดแถมยังมีประโยชน์มากมายนับไม่ถ้วน เพราะช่วยทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า การเดินสามารถช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้ โดยมีการศึกษาพบว่า การเดินเพียงวันละ 30 นาที สามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาการดีขึ้นได้ดีกว่าการใช้ยาต้านภาวะซึมเศร้า
สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถเดินแบบเบาๆได้ทุกวัน วันละ 30 นาที โดยสามารถใช้ไม้เท้าหรือไม้ค้ำยันช่วยได้ค่ะ
2. ว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายในน้ำ
การว่ายน้ำและการออกกำลังกายในน้ำ เป็นหนึ่งในทางเลือกที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการออกกำลังกายแน่นอนค่ะ เพราะจะมีน้ำคอยช่วยพยุงน้ำหนักตัว และการเคลื่อนไหวในน้ำยังช่วยเพิ่มแรงต้านทานให้ร่างกาย ส่งผลดีต่อกล้ามเนื้อ และหากได้ออกกำลังกายในน้ำอุ่น ก็จะยิ่งทำให้อาการปวดข้อเข่า อาการอักเสบ และเจ็บตึงซึ่งเป็นอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมลดลงได้อีกด้วย คุณไม่จำเป็นต้องว่ายน้ำเก่ง แค่เพียงอยู่ตรงบริเวณตื้นๆ ของสระว่ายน้ำก็สามารถเริ่มออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วค่ะ แต่ควรหลีกเลี่ยงท่าว่ายน้ำบางท่าอย่างเช่นท่ากบนะคะ เพราะอาจจะทำให้ข้อเข่าเกิดอาการปวดได้
3. วารีบำบัด
วารีบำบัดหรือการออกกำลังกายในสระที่ถูกสร้างมาเพื่อการบำบัดในน้ำโดยเฉพาะ จะช่วยบรรเทาอาการตึงบริเวณข้อเข่าได้ และยังช่วยส่งเสริมระบบไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น เพราะน้ำภายในสระมีอุณหภูมิอยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส นอกจากนี้น้ำยังช่วยพยุงร่างกายของคุณ จึงได้รับแรงกระทบจากการออกกำลังกายน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย แต่การออกกำลังกายแบบวารีบำบัดส่วนใหญ่จะอยู่ในสระน้ำลึก อาจจะทำให้ผู้ป่วยลงไปในสระได้ยาก แต่ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ เพราะการออกกำลังกายชนิดนี้จะมีผู้ที่คอยควบคุมดูแลและช่วยเหลือคุณอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้มั่นใจได้เลยค่ะว่าจะไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆอย่างแน่นอน
4. ปั่นจักรยาน
ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เพราะการออกกำลังกายที่น้อยลงจะทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มที่เหมือนกับตอนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่จะออกกำลังกายแบบเดิมก็จะส่งผลเสียต่อข้อเข่า ดังนั้นการปั่นจักรยานจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่อยากออกกำลังกายให้เลือดสูบฉีดไหลเวียนดียิ่งขึ้น แถมการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของขาและลดอาการตึงของข้อเข่าในช่วงเช้าได้อีกด้วย ส่วนเวลาที่ใช้ในการปั่นไม่ควรต่ำกว่า 30 นาทีต่อครั้ง และควรปั่นเพียงเบาๆ ไม่หักโหม อานที่นั่งก็ควรปรับให้อยู่ในระดับที่เข่างอเพียงเล็กน้อย และไม่ควรปรับแรงต้านให้มากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ข้อเข่าอักเสบได้ง่ายค่ะ
5. โยคะ
โยคะเป็นการผสมผสานระหว่างการเคลื่อนไหวของร่างกายกับการหายใจและการผ่อนคลาย แถมยังช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย มีการศึกษาในปี 2011 พบว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าที่ฝึกโยคะเป็นประจำจะมีอาการปวดและบวมที่ลดลงได้ นอกจากนี้โยคะยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกายให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะในผู้สูงวัยอีกด้วยค่ะ
6. ไทเก็ก
ไทเก็กเป็นศิลปะการป้องกันตัวของจีนที่เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ และอ่อนโยน โดยมุ่งเน้นการฝึกฝนทางด้านจิดใจ และปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ได้ เพราะนอกจากกล้ามเนื้อส่วนต่างๆจะแข็งแรงแล้วยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและความเครียด โดยมีการรายงานว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีแนวโน้มว่าจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เล่นไทเก็กเป็นประจำค่ะ
7. การยืดกล้ามเนื้อ
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง เนื่่องจากอาการเจ็บปวดทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ซึ่งจะทำให้อาการยิ่งเลวร้ายลงไปด้วย การฝึกยืดกล้ามเนื้อจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นมาพอที่จะช่วยรองรับข้อเข่า ทำให้ทุเลาอาการปวดให้ลดลงได้ ดังนั้นถ้าหากคุณต้องการออกกำลังกายด้วยการฝึกยืดกล้ามเนื้อก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ เพื่อที่แพทย์จะได้เริ่มต้นดูแลให้ยาควบคู่ไปกับการออกกำลังกายชนิดนี้ค่ะ
----♥----♥----
เห็นแล้วใช่ไหมล่ะคะว่าโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่ใช่โรคที่เราจะต้องโดนจำกัดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ถ้าหากเราตั้งใจจริงและหมั่นออกกำลังกาย อาการเจ็บปวดและตึงของข้อเข่าก็จะลดลงและช่วยยืดอายุของข้อเข่าไม่ให้เสื่อมเร็วขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นอย่ามัวแต่ซึมเซาอยู่แต่กับอาการเจ็บป่วยเลยนะคะ ลุกขึ้นมาออกกำลังกายกันเถอะค่ะ รับรองว่าอาการปวดเข่าจะต้องดีวันดีคืน จนหายขาดได้แน่นอนเลยค่ะ แม่เขียดขอเป็นกำลังใจและส่งแรงใจไปให้เพื่อนๆทุกคนเลยนะคะ สู้ๆๆ