ฮัลโหลลลล...ฮัลโหลลล มาต่อกันด้วยอาการของคนเริ่มเป็นโรคอัลไซเมอร์กันนะคะ มาดูซิว่า…อาการเหล่านี้ มีใครเป็นบ้างอ๊ะป่าววว
อาการของโรคนี้จะค่อยเป็นค่อยไป และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด โดยคร่าวๆ จะแบ่งอาการเป็นระยะต่างๆ ดังนี้…
1. ระยะก่อนสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้เล็กน้อย (Mild cog nitive impairment) มีปัญหาในการจดจำข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้มาไม่นาน หรือไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ๆได้ แต่โดยทั่วไปยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ยังตัดสินใจทำในสิ่งต่างๆได้ ยกเว้นเรื่องที่สลับซับซ้อน และหากนำผู้ป่วยไปทำการทดสอบทางสมองและสภาพจิต ก็จะยังไม่พบสิ่งผิดปกติ ผู้ป่วยในระยะนี้ก็จะไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ แต่ในทางการศึกษา เมื่อตรวจสมองของผู้ป่วยเหล่านี้จะพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว โดยสันนิษฐานว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองน่าจะปรากฏมา 10-20 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการต่างๆในระยะต่างๆของโรคนี้ตามมา ดังนั้นเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์เราต้องดูตัวเองตั้งแต่ยังหนุ่มสาวกันนะคะ ฝากเตือนลูกหลานด้วยค่ะ
2. สมองเสื่อมระยะแรก ผู้ป่วยจะมีการสูญเสียความจำในระยะสั้น ความจำใหม่ หรือความจำที่เพิ่งเรียนรู้มา เช่น ลืมว่าเก็บกุญแจไว้ที่ไหน ลืมนัด กินยารักษาโรคประจำตัวซ้ำ ถามซ้ำ พูดซ้ำ ส่วนความทรงจำในระยะยาวที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวของผู้ป่วย เช่น เกิดที่จังหวัดไหน เรียนจบอะไรมา รวมทั้งความจำที่เป็นความรู้ทั่วไป เช่น ไฟแดงหมายถึงให้หยุดรถ และความจำที่เป็นความจำโดยปริยาย (ความจำของร่างกายว่าทำสิ่งต่างๆอย่างไร เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร) ยังพอจำได้เป็นปกติ การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในระยะนี้ จะเริ่มไม่เป็นปกติ เช่น กำลังขับรถจะไปทำธุระบางอย่าง เกิดจำไม่ได้ว่าสถานที่นั้นต้องขับรถไปทางไหน และก็อาจจะขับรถกลับบ้านไม่ถูก มีปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายเงิน เพราะจำไม่ได้ว่าจ่ายเงินไปแล้วหรือยัง อาจจะโดนหลอกได้ ความคิดในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆจะลดลง การตัดสินใจจะช้าลง คิดนานขึ้น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ การใช้คำศัพท์ไม่คล่องเหมือนเดิม ทำให้พูดหรือเขียนหนังสือและใช้ภาษาได้น้อยลง แต่ยังสามารถสื่อสารบอกความคิดพื้นฐานของตนได้ ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม ทำให้ผู้ป่วยดูเงอะงะ นอกจากนี้อารมณ์จะเริ่มเปลี่ยนไป มีความวิตกกังวลมากขึ้น
3. สมองเสื่อมระยะปานกลาง นอกจากสูญเสียความทรงจำในระยะสั้นแล้ว ความจำในระยะยาว และความรู้ทั่วไปก็จะค่อยๆบกพร่องไป ผู้ป่วยจะจำชื่อและหน้าตาของเพื่อนๆไม่ได้ และก็อาจจะจำคนในครอบครัวไม่ได้ หรือแม้กระทั่งคู่ชีวิตของตนเอง ก็จำไม่ได้ว่าเป็นใคร ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะอยู่ในบ้านของตัวเอง ก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่แปลก อยู่กับคนแปลกหน้า ไม่คุ้นเคยตลอดเวลา การพูดและการใช้ภาษาจะบกพร่องชัดเจน เช่น จะไม่สามารถนึกคำเรียกชื่อสิ่งของที่มองเห็นอยู่ตรงหน้าได้ (เรียกว่า Agnosia) หรือใช้ศัพท์คำอื่นมาเรียกแทน (เรียกว่า Paraphasia) มีปัญหาในการสื่อสารบอกความคิดของตนเอง ทักษะการอ่านและการเขียนค่อยๆเสียไปเรื่อยๆ การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆก็จะเริ่มมีปัญหา เช่น การแต่งตัว ไม่รู้ว่าชุดไหนควรเอาไว้ใส่เวลาใด หรือแม้กระทั่งจะใส่เสื้อตัวนี้ต้องทำอย่างไร เป็นต้น
�ผู้ป่วยจะมีอารมณ์สับสน วิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน เช่น ร้องไห้ หรือก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผล มีอาการหลงผิด เห็นภาพหลอนโดยเฉพาะในเวลาโพล้เพล้ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เดินหนีออกจากบ้านโดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นหรือตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะเดินไปอย่างไร้จุดหมาย และก็จะกลับบ้านไม่ถูก การควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็เสียไป เช่น เมื่ออากาศร้อนก็ถอดเสื้อผ้า ถอดเสื้อชั้นในออกหมดแม้จะอยู่ในที่สาธารณะ โดยไม่เข้าใจหรือลืมไปแล้วว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะสม
4. สมองเสื่อมระยะสุดท้าย ความทรงจำในระยะสั้น ความทรงจำในระยะยาว ความรู้ทั่วไป และกระทั่งความจำที่เป็นความจำโดยปริยาย (ความจำของร่างกายว่าทำสิ่งต่างๆอย่างไร เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร) ก็จะสูญเสียไป การใช้ภาษาของผู้ป่วยจะลดลงอย่างมาก อาจพูดเพียงแค่วลีง่ายๆ หรือคำเดี่ยวๆ จน กระทั่งไม่สามารถพูดได้เลย ในระยะนี้ ลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าวจะลดลง ภาวะไร้อารมณ์เด่นกว่า ผู้ป่วยต้องอาศัยพึ่งพาผู้ดูแลตลอดเวลา การทำกิจวัตรประจำ วันต่างๆจะค่อยๆลดลง บางคนอาจมีท่าทางการเดินแบบซอยเท้าสั้นๆ มีอาการตัวแข็งคล้ายกับคนเป็นโรคพาร์กินสันได้ ในที่สุดผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆได้เลย ทั้งการอาบน้ำ กินข้าว แต่งตัว แม้กระทั่งการเดิน หรือการนั่ง ถ้าไม่มีผู้ดูแล ผู้ป่วยก็จะได้แต่นอนนิ่งๆอยู่บนเตียงตลอดเวลา และไม่สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ บางคนอาจมีอาการชัก กลืนลำบาก สุดท้ายผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เกิดแผลกดทับและติดเชื้อตาม มาเกิดปอดบวมติดเชื้อ ร่างกายขาดสารน้ำ ระบบเกลือแร่ขาดสมดุล เป็นต้น โดยไม่ได้เสียชีวิตจากตัวโรคโดยตรง
ไม่น่าเชื่อนะคะว่า…โรคที่เกี่ยวกับการหลงลืมจะทำให้เราถึงแก่ชีวิตได้ แม่เขียดไม่ได้นำข้อมูลนี้มาทำให้เพื่อนๆกลัวหรือกังวลใจนะคะ แต่แค่นำข้อเท็จมาชี้แจงเพื่อให้เรารู้เท่าทันความเสื่อมของร่างกายและสมอง นำไปสู่การรับมือกับความสูงวัยได้ดีและมีสติมากขึ้นค่ะ
ด้วยรักและสูงวัย
แม่เขียด ผู้สูงวัยใช่ไก่กา